การดำเนินการของพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐
ขั้นตอนการรับสมัครสมาชิกพรรคการเมือง
- ที่ทำการสำนักงานใหญ่พรรค
- ที่ทำการสาขาพรรค
- ที่ทำการตัวแทนพรรคการเมือง
ประจำจังหวัด (ถ้ามี)
- กรรมการบริหารพรรค กรรมการสาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
เอกสารการประกอบการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
(๑) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ที่ยังไม่หมดอายุ)
(๒) สำเนาทะเบียนบ้าน
(๓) สำเนาหนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติกรณีมีสัญชาติไทย
โดยการแปลงสัญชาติมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี หรือเอกสารอื่นใด
ที่ใช้ยืนยันแทนได้
(๔) สำเนาใบเสร็จรับเงินค่าบำรุงพรรคการเมือง
การตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๖ มาตรา ๙๘
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา ๙ . มาตรา ๒๔
คุณสมบัติ
(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี
(๒) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ
ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
ลักษณะต้องห้าม
(๓) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๕) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๖) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(๗) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๘) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
(๙) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๑๐) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๑๑) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(๑๒) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑๓) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้ากฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนักกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
(๑๔) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
(๑๕) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
(๑๖) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(๑๗) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(๑๘) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีการเสนอการแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
(๑๙) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(๒๐) อยู่ในระหว่างถูกสั่งห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
(๒๑) ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น หรือผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น
การจัดทำทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง
๑. ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งจำนวนสมาชิกที่แตกต่างจากที่ปรากฏในทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ
๒. พรรคการเมืองที่ยังมีสมาชิกไม่ถึงห้าร้อยคน ก็ให้ดำเนินการจัดให้มีสมาชิกให้ครบห้าร้อยคนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลใช้บังคับ
๓. จัดให้มีทุนประเดิมจำนวน ๑ ล้านบาท และแจ้งให้นายทะเบียนทราบ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หากมีเงินหรือทรัพย์สินอยู่แล้ว จะกันไว้เป็น ทุนประเดิมก็ได้
๔. จัดให้สมาชิกไม่น้อยกว่าห้าร้อยคน ชำระค่าบำรุงพรรคภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และให้พรรคการเมืองแจ้งคณะกรรมการทราบพร้อมด้วยหลักฐานการชำระค่าบำรุงพรรคภายในสิบห้าวัน
๕. จัดให้สมาชิกชำระค่าบำรุงพรรคให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่าห้าพันคนภายในหนึ่งปี และให้ได้ไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนภายในสี่ปี เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้สมาชิกภาพของสมาชิกที่มิได้ชำระค่าบำรุงพรรคเป็นอันสิ้นสุดลง
๖. เมื่อพรรคได้รับสมัครสมาชิกเรียบร้อยแล้ว และนายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองก็ได้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามแล้ว ให้นายทะเบียนสมาชิกพรรคจัดทำทะเบียนสมาชิกพรรคให้ตรงตามความเป็นจริง ตามแบบ ท.พ.๑
๗. ให้พรรคการเมืองเป็นผู้นำเข้าข้อมูลในระบบฐานข้อมูลพรรคการเมืองและให้พรรคการเมืองเก็บรักษาเอกสารและใบสมัครสมาชิกพรรคการเมืองไว้ ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมือง
การแจ้งจำนวนสมาชิกพรรคการเมือง
ในกรณีที่มีจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นหรือลดลง หรือในกรณีที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือดลง ให้หัวหน้าพรรคการเมืองแจ้งจำนวนสมาชิกนั้นในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน กกต. ต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายใน
วันที่สิบห้าของทุกสามเดือน โดยระยะเวลาการแจ้ง มีดังนี้
ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๑ ม.ค. – ๓๑ มี.ค. แจ้งภายในวันที่ ๑๕ เม.ย.
ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑ เม.ย. – ๓๐ มิ.ย. แจ้งภายในวันที่ ๑๕ ก.ค.
ครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๑ ก.ค. – ๓๐ ก.ย. แจ้งภายในวันที่ ๑๕ ต.ค.
ครั้งที่ ๔ ระหว่างวันที่ ๑ ต.ค. – ๓๑ ธ.ค. แจ้งภายในวันที่ ๑๕ ม.ค.
ของปีถัดไป
ในการแจ้งจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น ให้ปฏิบัติดังนี้
๑. ให้พรรคการเมืองนั้นจัดพิมพ์แบบหนังสือแจ้งข้อมูลสมาชิกที่พรรคการเมืองนำเข้าในระบบบริหารฐานข้อมูลพรรคการเมือง
๒. แจ้งจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ตามแบบ ดังนี้
๒.๑ แบบหนังสือแจ้งจำนวนสมาชิกพรรคการเมือง ตามแบบ ท.พ.๒
๒.๒ แบบแจ้งรายการสมาชิกพรรคการเมืองที่เพิ่มขึ้น ตามแบบ ท.พ.๒/๑
๒.๓ แบบแจ้งรายการสมาชิกพรรคการเมืองที่ลดลง ตามแบบ ท.พ.๒/๒
โดยจัดพิมพ์และแจ้งจำนวนสมาชิกในระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ระหว่างวันที่ ๑ ถึงวันที่ ๑๕ ของทุกสามเดือน พร้อมสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าบำรุงพรรคการเมือง (แบบ พ.ก. ๑๐)
การจัดเก็บค่าบำรุงพรรคการเมือง (แบบเก่า)
สำหรับปีแรกที่ พ.ร.ป. พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้ในการเรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองของสมาชิกพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ จะชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองต่ำกว่าอัตราที่กำหนด (๑๐๐ บาท) ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า ๕๐ บาท และต้องจัดให้มีสมาชิกไม่น้อยกว่า ๕๐๐ คน ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายใน ๑๘๐ วัน แต่หากยังค้างค่าบำรุงพรรคการเมืองสำหรับปีก่อนๆ อยู่จำนวนเท่าไรให้เป็นอันพับไป และภายใน ๑ ปี พรรคการเมืองต้องจัดให้สมาชิกชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ คน และเพิ่มเป็น ๑๐,๐๐๐ คน ภายใน ๔ ปี เมื่อพ้น ๔ ปี สมาชิกที่ไม่ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพลง
การจัดเก็บค่าบำรุงพรรคการเมือง (แบบใหม่)
สมาชิกพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ จะต้องชำระค่าบำรุงพรรคการเมือง ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ บาทต่อปี และถ้าไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคการเมืองติดต่อกันสองปี ก็จะสิ้นสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมืองได้ ทั้งนี้ พรรคการเมืองอาจเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองจากสมาชิกแบบตลอดชีพตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ บาท
การขอตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
๑. บุคคลทั่วไป จะตรวจสอบได้เฉพาะของตนเองเท่านั้น โดยจะต้องกรอกแบบฟอร์มตามที่สำนักงานกำหนด พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนของผู้ขอตรวจสอบ โดยยื่นคำขอพร้อมหลักฐานเอกสารต่อ ลธ.กกต.
๒. หน่วยงานหรือองค์กรภายนอก ต้องมีหนังสือขอตรวจสอบการเป็นสมาชิก โดยหัวหน้าของหน่วยงานหรือองค์กรนั้นเป็นผู้ลงนามในหนังสือ
๓. หน่วยงานภายในสำนักงานให้ผอ.สำนักหรือเทียบเท่าเป็นผู้ลงนามในคำขอตรวจสอบ
กรณีสนง.กกต.จว. หรือ กทม. ให้ผอ.กต.จว.นั้นๆ เป็นผู้ลงนามในคำขอตรวจสอบ